หากพูดถึงกัญชา หลายคนคงรู้จักกันในฐานะของพืชที่เป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งฟังดูเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะมีสารที่สามารถก่อให้เกิดอาการเสพติดและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แต่รู้หรือไม่ว่าหากใช้อย่างเหมาะสมก็ให้คุณประโยชน์ด้วยเช่นกัน! จนเมื่อไม่นานมานี้ กัญชาจึงกลายเป็นพืชที่ได้รับการรับรองในประเทศไทยและกำลังมีอิทธิพลอย่างแพร่หลายมากขึ้น
ซึ่งจากคำถามที่ว่ากัญชามีกี่สายพันธุ์ ก็ต้องบอกเลยว่าแท้จริงแล้วกัญชามีหลายร้อยสายพันธุ์มาก แต่ในปัจจุบันกัญชาที่ได้รับความนิยมโดยทั่วไป รวมถึงในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์หลักๆ และแต่ละสายพันธุ์ก็ยังให้ฤทธิ์และสรรพคุณที่ไม่เหมือนกัน บทความนี้จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสายพันธุ์กัญชาชนิดต่างๆ ที่ได้รับความนิยม รวมไปถึงสายพันธุ์กัญชาของไทยที่ได้รับการรับรองและเป็นที่นิยมไปทั่วโลกว่ามีอะไรบ้าง แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้ทุกคนสามารถเลือกบริโภคได้ตามความต้องการ และปลอดภัยในการใช้กัญชา
กัญชาเป็นพืชสกุล Cannabis ชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในวงศ์ของ Cannabaceae โดยสายพันธ์ุกัญชาที่ได้รับความนิยม และพบได้บ่อยได้แก่ สายพันธุ์ซาติว่า (Cannabis Sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis Indica) สายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis) และสายพันธุ์กัญชาแบบไฮบริด (Hybrid)
กัญชา Sativa (Cannabis Sativa) มีชื่อมาจากภาษาละตินคำว่า Sativa คือ การเพาะปลูก สายพันธุ์กัญชาซาติว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างเม็กซิโก โคลัมเบีย ตอนกลางของทวีปแอฟริกาและภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์กัญชาซาติว่ามีสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งออกฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นประสาทที่แรงกว่าสายพันธุ์กัญชาอินดิกา จึงนิยมใช้ในตอนกลางวัน หรือใช้ในการสังสรรค์เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกสนุกสนาน ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า และพูดคุยสนุกขึ้น โดยสายพันธุ์กัญชาซาติว่าใช้เวลาประมาณ 9-16 สัปดาห์ในการเจริญเติบโตจนพร้อมต่อการเก็บเกี่ยว
กัญชา Indica (Cannabis Indica) มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดียและบริเวณตะวันออกกลาง จึงได้ชื่อว่า Indica ตามประเทศอินเดียสถานที่อันเป็นต้นกำเนิด สายพันธุ์กัญชาอินดิกามีสาร CBD หรือ Cannabidiol ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาทจึงมักนำมาใช้เพื่อลดอาการแพนิค ลดความกังวล คลายความเครียด ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น รวมไปถึงมีฤิทธิ์ช่วยลดการเจ็บปวดอีกด้วย ทำให้ได้รับความนิยมในการนำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชา ใช้ในผู้ป่วยไมเกรน รวมไปถึงผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียน จากการทำเคมีบำบัด หรือ คีโม โดยสายพันธุ์กัญชาอินดิกาใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงพร้อมต่อการเก็บเกี่ยวมาใช้งาน
สายพันธุ์กัญชารูเดอราลิส (Cannabis Ruderalis) มีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางและทางตะวันออกของทวีปยุโรป หากเปรียบเทียบกันกับสายพันธุ์กัญชาซาติว่าแล้ว สายพันธุ์กัญชารูเดอราลิสจะมีสาร THC ที่น้อยกว่าและยังมีสาร CBD น้อยกว่าสายพันธุ์อินดิกา ทำให้อาจจะไม่ได้รับความนิยมในการนำมาบริโภคโดยตรง แต่มักถูกนำไปเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของกัญชาสายพันธุ์ไฮบริด เนื่องจากจุดเด่นของสายพันธุ์กัญชารูเดอราลิสคือ มีระยะการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และทนต่อสภาพอาการ เนื่องจากถิ่นกำเนิดมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นและแสงแดดน้อย จึงทำให้กัญชาสายพันธุ์ไฮบริดที่มีลูกผสมของสายพันธุ์นี้สามารถออกผลผลิตได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และทนต่อสภาพอากาศได้ดีอีกด้วย
กัญชาไฮบริด (Hybrid) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กัญชาที่เกิดจากการนำกัญชา 3 สายพันธุ์ข้างต้นมาผสมกัน ซึ่งส่วนมากที่พบมักเป็นการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ซาติว่าและสายพันธุ์อินดิกา โดยกัญชาสายพันธุ์ไฮบริดนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเน้นในการบริโภคเชิงสรรทนาการ ด้วยการเพิ่มสาร THC ให้สูง ส่วนสาร CBD จะน้อยหรือมากก็ขึ้นอยู่กับการปรับแต่งสายพันธุ์ จึงมีฤทธิ์และระยะเวลาในการเจริญเติบโตที่เฉพาะตัวตามพ่อพันธ์ุและแม่พันธ์ุที่นำมาผสมกัน
นอกจากกัญชา 4 สายพันธุ์หลักข้างต้นแล้ว ในประเทศไทยเองนั้นก็มีสายพันธุ์กัญชาที่พบได้บ่อยและผ่านการรับรองแล้วเช่นกัน จากการผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมายและได้รับการรับรองเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม จนผ่านการรับรองมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์กัญชาหางกระรอก สายพันธุ์กัญชาตะนาวศรีก้านขาว สายพันธุ์กัญชาตะนาวศรีก้านแดงและสายพันธุ์กัญชาหางเสือ
หางกระรอก เป็นสายพันธุ์กัญชาซาติว่าที่พบได้ในประเทศไทย มีชื่อเสียงในยุคของสงครามเวียดนามและมักเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Thai Stick เนื่องจากลักษณะเด่นของกัญชาหางกระรอกคือเป็นแท่งคล้ายไม้ โดยหางกระรอกนั้นมีค่าของสาร THC สูงมากถึงราว 18-22 เปอร์เซนต์ มีฤทธิ์ที่ทำให้ลดความเครียด ผู้เสพจะเกิดอาการเคลิ้ม รวมไปถึงเจริญอาหารด้วย
ตะนาวศรีก้านขาว เป็นอีกหนึ่งในกัญชาสายพันธุ์ซาติว่าที่พบได้ในประเทศไทย มีลักษณะเด่นที่ช่อดอกจำนวนมากและเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายกิ่ง ลำต้นจะเป็นทรงพุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกส้มและกลิ่นตะไคร้จึงฉุนน้อย
ตะนาวศรีก้านแดง มีลักษณะเด่นคือช่อดอกจำนวนมากและเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งเช่นเดียวกันกับตะนาวศรีก้านขาว แต่จุดที่แตกต่างกันคือสีที่ก้าน กิ่งและก้านใบจะเป็นสีแดง เป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีกลิ่นฉุน มักส่งกลิ่นคล้ายกับกลิ่นผลไม้สุก มีสาร CBD ที่ให้การระงับประสาทสูง จึงนำฤทธิ์ไปใช้ในทางการแพทย์ได้ประโยชน์มาก
สายพันธุ์กัญชาหางเสือ สายพันธุ์ของประเทศไทยที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่รูปร่างของช่อดอกยาวคล้ายหางเสือ มีกลิ่นคล้ายเปลือกส้มที่ฉุนกว่าตะนาวศรีก้านขาว
ในกัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีสารที่แตกต่างกันไป ซึ่งสารที่แตกต่างกันส่งผลให้เกิดการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันและนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ ซึ่งนอกจากประเภทของสารที่แตกต่างกันแล้ว สายพันธุ์กัญชาแต่ละสายพันธุ์ก็ยังมีปริมาณของสารที่ไม่เหมือนกัน ในการควบคุมการใช้งานและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเลือกใช้สายพันธุ์กัญชาให้ตรงต่อความต้องการและคุณประโยชน์จึงต้องมีการศึกษาฤทธิ์ของสารในกัญชาแต่ละสายพันธุ์อย่างถี่ถ้วน ซึ่งสารที่สำคัญในกัญชาแต่ละสายพันธุ์คือ CBD หรือ Cannabidiol ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาท และสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท
สาร CBD หรือ Cannabidiol เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการระงับประสาท จึงมักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือสาธารณสุข สาร CBD จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งส่วนที่สำคัญในทางการแพทย์ของสาร CBD คือการที่สาร CBD ไม่มีผลต่อจิตประสาทและไม่ส่งผลให้เกิดอาการเสพติด จึงเหมาะต่อการนำมารักษาและใช้คุณประโยชน์ทางการแพทย์
สาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol เป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท อาจได้ยินกันในชื่อ ‘สารเมา’ อย่างแพร่หลาย เป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและอาจก่อให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งสาร THC จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ในขั้นตอนของการสกัดกัญชา จึงต้องมีการศึกษาและควบคุมปริมาณของสาร THC และสาร CBD เพื่อป้องกันการเสพติดและผลต่อจิตประสาทเมื่อใช้งานกัญชา หากผู้ที่ใช้งานกัญชาได้รับสาร THC ในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการดังต่อไปนี้
กัญชาเป็นพืชที่มีผลต่อระบบของประสาทและสมอง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบที่สำคัญอย่างสาร CBD ที่มีฤทธิ์ระงับประสาทแล้ว จึงถือว่าเป็นส่วนช่วยในทางการแพทย์เพื่อระงับความเจ็บปวดและลดความเครียดต่างๆ ได้ดี อย่างไรก็ตาม ในกัญชายังมีสาร THC ซึ่งออกมาพร้อมกับสาร CBD ในขั้นตอนของการสกัดกัญชา ซึ่งสารนี้เป็นสารเมาที่มีผลต่อจิตประสาทและก่อให้เกิดอาการเสพติด ในการเลือกสายพันธุ์กัญชาจึงต้องศึกษาและใช้งานอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงความต้องการและความปลอดภัย เพื่อให้ได้รับคุณประโยชน์โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียทางจิตประสาทและไม่ก่อให้เกิดอาการเสพติด