หลังจากปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กัญชาได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจน้องใหม่มาแรง เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และคุณสมบัติที่หลากหลาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ทางเลือกรวมถึงวงการอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ผู้คนหันมาสนใจปลูกกัญชากันมากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนคนทั่วไปที่สามารถปลูกได้ถึงครัวเรือนละ 15 ต้น โดยที่ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแค่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ตามข้อกำหนดของทางกระทรวงสาธารณสุข
ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังมีข้อสงสัยว่าเพาะเมล็ดกัญชายังไง บทความนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้และแนะนำวิธีการเพาะเมล็ดกัญชาแบบง่ายๆ สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นปลูกกัญชาเอง รวมไปถึงสิ่งที่ต้องเตรียมในการปลูกกัญชาเบื้องต้น รับรองว่าอ่านจบแล้วสามารถปลูกกัญชาได้อย่างแน่นอน
รู้จักกับ “กัญชา” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ มาแรง
กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชล้มลุก ปลูกง่าย ลักษณะของลำต้นมีขนาดเล็ก มีดอกสีเขียว ใบเป็นแฉกลึก ซึ่งในแต่ละส่วนของใบจะมีแฉกไม่น้อยกว่า 5 แฉก และไม่เกิน 8 แฉก ประกอบกับมีวิธีเพาะเมล็ดกัญชาที่ไม่ยุ่งยากและอีกทั้งปัจจุบันกัญชาได้รับการยอมรับว่าเป็นพืชด้านการเกษตรที่ไม่อยู่ในประเภทของยาเสพติด จึงทำให้มีการนิยมปลูกมากขึ้นเพื่อนำมาใช้รักษาโรคหรือมีส่วนช่วยต่างๆ ในด้านการแพทย์ โดยกัญชานั้นมีประโยชน์และมีสรรพคุณมากมาย ดังนี้
กัญชามีส่วนช่วยในการเจริญอาหารที่ดีขึ้น หากผู้ป่วยมีภาวะในการเบื่ออาหาร
ช่วยลดอาการท้องผูกได้ดีกับวัยผู้สูงอายุ
ช่วยลดภาวะอาการซึมเศร้า ทำให้นอนหลับง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยผ่อนคลาย
มีส่วนช่วยในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง
ช่วยกำจัดเสมหะในลำคอ บรรเทาอาการหอบหืด หรือลดอาการไอ
ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคไขข้ออักเสบ
ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนของผู้หญิง
มีส่วนช่วยในการรักษาตา เช่น รักษาอาการต้อหิน
ช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ หรือลดอาการแขน ขา อ่อนแรง
จะเห็นได้ว่ากัญชานั้นมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ทุกเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ กัญชาก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ด้วยเช่นกัน หากเราใช้กัญชาโดยไม่มีมีความรู้ ดังนั้นก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทุกครั้ง ควรมีการศึกษาให้ดีก่อน คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าก่อนจะเพาะเมล็ดกัญชานั้น เราควรเตรียมสิ่งใดบ้าง เพื่อให้การเพาะและปลูกกัญชานั้นเป็นไปอย่างราบรื่น
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนปลูกกัญชา
กัญชาก็นับเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ต้องอาศัยความใส่ใจในการปลูก และการดูแลจนกว่าจะออกผลผลิต ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการปลูกตั้งแต่ต้นที่ดีจะช่วยให้กัญชาเติบโตอย่างเต็มที่และสมบูรณ์ โดยสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนการปลูกกัญชา มีดังนี้
เตรียมสถานที่
การเตรียมสถานที่ในการปลูกหรือเพาะเมล็ดกัญชาที่ดี จะส่งผลให้กัญชามีการเจริญเติบโตและได้ผลผลิตตามที่ต้องการในอนาคต รวมไปถึงลดปัญหาในเรื่องต่างๆ ที่จะตามมาภายหลังได้ ซึ่งการเตรียมสถานที่มีความสำคัญและต้องคำนึงถึงสิ่งนี้
สถานที่ในการปลูก หรือเพาะเมล็ดกัญชาจะต้องมีขนาดเป็นสัดส่วน ระบายอากาศได้สะดวก มีปริมาณแสงที่เพียงพอต่อการสังเคราะห์แสง
สถานที่บริเวณโดยรอบจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี เนื่องจากการที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งผลให้ได้ผลผลิตกัญชาที่สูงและได้ปริมาณมาก
หากเป็นการปลูกแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ควรเป็นสถานที่ปราศจากแมลงศัตรูพืช หากสถานที่ในการปลูกไม่มีแมลงหรือไม่มีศัตรูพืช ย่อมส่งผลดีให้ต้นกัญชามีลักษณะที่สวยงาม ใบไม่เป็นรอย หรือดอกไม่มีการแทะเล็ม
หากเป็นการปลูกในร่ม (Indoor) ควรตรวจสอบให้ดีถึงการเข้าถึงแหล่งน้ำ สารอาหาร และมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นหรือไม่ รวมไปถึงความแข็งแรงของบริเวณที่เพาะปลูกกัญชา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรือน หรือเต้นท์ ว่ามีความแข็งแรงดีหรือไม่ คุณคงไม่อยากเสียต้นกัญชาไปเพราะว่าเต้นท์ที่เพาะปลูกพังลงมาทับต้นกัญชาอย่างแน่นอน
โดยการปลูกกัญชาสามารถแบ่งตามสถานที่หรือสภาพแวดล้อมในการปลูกได้ 2 แบบ ได้แก่
การปลูกกลางแจ้ง หรือระบบเปิด (Outdoor) เป็นการปลูกแบบกลางแจ้ง เน้นแสงแดด อุณหภูมิและสภาพอากาศจากธรรมชาติ
การปลูกในร่ม หรือระบบปิด (Indoor) เป็นการปลูกในสถานที่ปิด วิธีนี้ผู้ปลูกสามารถเพาะเมล็ดกัญชาให้อยู่ในอุณหภูมิที่ต้องการ รวมถึงสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมให้มีความเหมาะสมในการเจริญเติบโตของต้นกัญชาได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความชื้น แร่ธาตุ ความเข้มของแสง และจำนวนชั่วโมงของแสง
เตรียมดิน
ถ้าจะปลูกกัญชา หรือเพาะเมล็ดกัญชา ผู้ปลูกควรจะต้องมีการเตรียมดินไว้เป็นอย่างดี เพราะดินนั้นมีความที่สำคัญเป็นอย่างมากในการปลูกกัญชา (ถ้าคุณไม่ได้ปลูกกัญชาแบบ Hydroponic แล้วละก็) ซึ่งลักษณะดินที่เหมาะกับการเพาะเมล็ดหรือปลูกกัญชาที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
ควรเป็นดินร่วนซุย ไม่จับตัวเป็นก้อน และไม่มีความเหนียว เพื่อให้เมล็ดกัญชาสามารถงอกรากได้ง่าย
มีเป็นดินที่มีความสามารถในการระบายอากาศ และระบายน้ำได้ดี แต่ก็พออุ้มน้ำได้ระดับนึง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมกับการเพาะเมล็ดกัญชา
ควรเป็นที่ดินที่สะอาด ไร้สารเคมี และมีความเป็นกรดเล็กน้อย โดยมีค่า pH อยู่ที่ 6 – 7
ควรดินที่มีสีเข้ม เพราะสื่อถึงดินที่มีสารอาหารครบถ้วน และจำเป็นต่อการเพาะเมล็ดกัญชา
ผู้ปลูกกัญชาจึงจำเป็นจะต้องเลือกดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะเมล็ดกัญชา เพื่อให้ได้ต้นกัญชาที่มีคุณภาพ
ปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์เป็นสิ่งที่ช่วยปรับให้หน้าดินมีสภาพที่ดีขึ้น และเสริมสร้างสารอาหารภายในดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหากจะปลูกกัญชาให้ได้ผลผลิตที่ดี จำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เข้าไปช่วยบำรุงดิน โดยปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีความสำคัญต่อดินและมีประโยชน์ คือ
ช่วยปรับดินให้มีการร่วนซุยมากขึ้นและช่วยอุ้มน้ำ ส่งผลให้ดินเกิดความชุ่มชื้น ไม่มีความแห้ง
มีราคาที่ประหยัด อีกทั้งช่วยลดต้นทุน
มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในดิน
ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด – ด่างในดิน
ช่วยให้มีธาตุอาหารในดิน ส่งผลให้จุลินทรีย์เกิดการกระตุ้นในการสร้างอาหารที่ดีต่อดิน
ช่วยเก็บสารอาหารให้คงอยู่ได้นาน
ช่วยให้การเพาะปลูกเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีประโยชน์และมีคุณสมบัติที่ดีมากมาย ดังนั้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์นับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีเป็นอย่างมากในการบำรุงดินและมีความปลอดภัยสูงต่อการเพาะเมล็ดกัญชาอีกด้วย
ทิชชู่
ทิชชู่เป็นสิ่งที่ช่วยให้วิธีเพาะเมล็ดกัญชามีความง่ายขึ้นและเมล็ดงอกได้ดี อีกทั้งการใช้ทิชชู่นั้นเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ซึ่งทิชชู่มีความสำคัญในการเพาะเมล็ดกัญชาหรือมีข้อดีได้แก่
ทำให้เมล็ดงอกรวดเร็ว เพราะทิชชู่สามารถกักเก็บน้ำแล้วความชื้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่สำคัญในระยะของการเพาะเมล็ดกัญชา
เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเมล็ดกัญชาที่มีราคาประหยัด
ใครๆ ก็สามารถนำทิชชู่มาเพาะเมล็ดกัญชาได้ เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ไม่ยาก
สำหรับใครที่อยากเพาะเมล็ดกัญชาอย่างง่ายๆ ก็สามารถทำได้โดยการนำทิชชู่มาใช้ เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน และเป็นไอเดียที่น่าสนใจ
กระถางสำหรับปลูกต้นไม้
กระถางปลูกต้นไม้เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้รองรับการเจริญเติบโตได้ดีหลังจากที่เสร็จสิ้นการเพาะเมล็ดกัญชา รวมไปถึงระยะอนุบาลต้นอ่อน ซึ่งผู้ปลูกเองควรมีกระถางหลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดลำต้นของต้นกัญชาในช่วงเวลานั้นๆ เมื่อต้นกัญชาโตได้ขนาดประมาณหนึ่ง ผู้ปลูกก็ควรมีการย้ายต้นกัญชาไปยังกระถางที่มีขนาดใหญ่กว่า เพราะการที่ต้นกัญชาเติบโตในกระถางที่เล็กเกินไปจะทำให้รากมีพื้นที่จำกัด ส่งผลให้ต้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่
โดยกระถางมีข้อดีดังนี้
ช่วยให้ผู้ปลูกดูแลต้นกัญชาได้ง่าย เพราะสามารถควบคุมสารอาหาร และปริมาณน้ำได้ เนื่องจากพื้นที่ถูกจำกัดผู้แค่ภายในกระถาง
ช่วยป้องกันลำต้นได้เป็นอย่างดี เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตในช่วงอนุบาลต้นอ่อน
ประหยัดพื้นที่ในการปลูก มือใหม่ก็สามารถปลูกกัญชาในกระถางได้
ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย หากต้นกัญชามีการเจริญเติบโตที่เพียงพอ
ดังนั้น ผู้ปลูกกัญชาสามารถใช้กระถางในการเพาะปลูกกัญชาได้ เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและเหมาะสำหรับการประหยัดพื้นที่ในการเพาะปลูก
วิธีเพาะเมล็ดกัญชาแบบง่ายๆ รับรองรากงอกแน่นอน
ขั้นตอนการปลูกกัญชาด้วยเมล็ดนั้นเริ่มต้นด้วยจากการเพาะเมล็ดกัญชา ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
แช่เมล็ดกัญชาในน้ำ 1 คืน
การแช่เมล็ดกัญชาในน้ำ 1 คืน เป็นการกระตุ้นเมล็ดกัญชา และทำให้เปลือกของเมล็ดกัญชาอ่อนลง เพื่อเพิ่มโอการในการงอกของราก และช่วยให้ประหยัดเวลากว่าการนำเมล็ดลงดินโดยตรง
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการแช่เมล็ดกัญชาในน้ำ 1 คืน
แก้วน้ำ
เมล็ดพันธุ์
น้ำสะอาด
วิธีการแช่เมล็ดกัญชาในน้ำ 1 คืน
ขั้นตอนแรก ใส่ปริมาณน้ำลงไปในแก้วน้ำให้มีขนาดพอเหมาะหรือเพียงพอต่อการแช่เมล็ดพันธุ์
ขั้นที่สอง นำเมล็ดพันธุ์ใส่ลงไปในแก้วน้ำเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นและจะเป็นการช่วยทำให้รากงอกอย่างรวดเร็ว โดยเมล็ดกัญชาที่สามารถเจริญเติบโตได้ควรที่จะต้องจมน้ำ แต่ถ้าหากเมล็ดไหนไม่ยอมจมน้ำหลังจากผ่านไป 1-2 ชั่วโมง ให้นำออกเพราะมักจะเป็นเมล็ดที่ฝ่อ
ขั้นตอนที่สาม หาฝามาปิดแก้วน้ำให้มิดชิดหรือผ้าก็ได้ เพือป้องกันแมลงและสิ่งแปลกปลอมตกลงไปในน้ำ
ขั้นตอนสุดท้าย นำแก้วน้ำไปไว้ในที่มืด โดยมีอุณหภูมิปกติทั่วไปและเก็บไว้เป็นระยะเวลา 1 คืน
การแช่เมล็ดกัญชาในน้ำ 1 คืนนั้นนอกจากจะช่วยให้เมล็ดงอกรากได้ง่ายแล้ว ยังเป็นการคัดเมล็ดที่ไม่มีคุณภาพออกไปอีกด้วย เมื่อผ่านไป 1 คืนแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
นำเมล็ดกัญชามาเพาะต่อในทิชชู่
การนำเมล็ดกัญชามาเพาะต่อในทิชชู่มีวัสดุอุปกรณ์และวิธีการที่ง่ายๆ ดังนี้
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเมล็ดกัญชา
เมล็ดพันธุ์
น้ำสะอาด
กล่องทึบแสงหรือกล่องสูญญากาศ
ทิชชู่
วิธีการเพาะเมล็ดกัญชาบนทิชชู่
ขั้นตอนแรก : นำทิชชู่สองถึงสามแผ่นมาวางไว้บนภาชนะเช่น กล่องข้าว กล่องทึบแสง จานหรือถาด
ขั้นตอนที่สอง : พรมน้ำให้มีความชุ่มชื้นบนทิชชู่ จากนั้นนำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว วางบนทิชชู่
ขั้นตอนที่สาม : นำทิชชู่แผ่นใหม่มาประกบเพื่อปิดเมล็ดเอาไว้
ขั้นตอนที่สี่ : พรมน้ำอีกครั้งให้พอเหมาะบนกระดาษทิชชู่ ซึ่งจะต้องไม่มีความแฉะมากเกินไป
ขั้นตอนที่ห้า : ทำการปิดฝาให้เรียบร้อยเพื่อที่จะป้องกันแมลงหรือสิ่งแปลกปลอม
ขั้นตอนสุดท้าย : นำภาชนะที่ใส่การเพาะเมล็ดกัญชา ไปไว้ในที่มืด รอสักประมาณ 2-3 วัน เพื่อสังเกตการงอกของราก
หลังจากการเพาะเมล็ดกัญชาผ่านไปได้ประมาณ 2-3 วันแล้ว ให้ผู้ปลูกลองสังเกตดูว่าเมล็ดกัญชามีรากงอกออกมาหรือไม่ ถ้าเริ่มมีรากงอกออกมาแล้วก็ให้ดูแลต่อด้วยการพรมน้ำให้ทิชชู่มีความชุ่มชื้นต่อไป จนกว่ารากจะงอกออกมาได้ประมาณ 1 ซม. หรือรากเริ่มมีขนรอบๆ ก็แสดงว่าต้นอ่อนนั้นพร้อมเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปแล้ว
นำต้นอ่อนลงกระถาง
การนำต้นอ่อนลงกระถาง หรือหลังจากการเพาะเมล็ดกัญชาแล้วเมล็ดเริ่มมีรากงอกได้ประมาณ 1 ซม. ก็จะสามารถเริ่มทำการย้ายต้นอ่อนลงกระถางได้เพื่อเข้าสู่ระยะการอนุบาลต้นกล้าเป็นลำดับต่อไป
วัสดุอุปกรณ์ในการนำลงกระถาง
เมล็ดของต้นกัญชาที่มีรากงอกได้ประมาณ 1 ซม.
กระถางปลูกต้นไม้ขนาด 6-8 นิ้ว ซึ่งกระถางนั้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกัญชาโดยตรง หากเราใช้กระถางเล็กเกินไปก็จะทำให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องย้ายกระถางบ่อยๆ ซึ่งการย้ายกระถางแต่ละครั้งนั้นมีความเสี่ยงที่เราจะทำความเสียหายให้กับต้นกัญชาโดยเฉพาะช่วงอนุบาลต้นกล้าที่ต้นกัญชานั้นมีความบอบบางเป็นพิเศษ ดังนั้นเราจึงควรเลือกขนาดกระถางให้เหมาะสมกับแต่ช่วงวัยของต้นกัญชา
ดินปลูก ที่มีส่วนผสมของพีทมอส, เวอร์มิคูลไลท์ และเพอร์ไลท์
ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือปุ๋ยมูลไส้เดือน
โดยวิธีการและขั้นตอนในการนำต้นอ่อนลงกระถางคือ
ขั้นตอนแรก เตรียมดินปลูกโดยผสมพีทมอส, เวอร์มิคูลไลท์ และเพอร์ไลท์ในอัตราส่วนตามที่ต้องการ ส่วนมากจะใช้อัตราส่วน 80% 10% 10% ตามลำดับ
ขั้นตอนที่สอง ใช้มือหยิบเมล็ดกัญชาที่มีรากงอกแล้วออกจากกระดาษทิชชู่ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้รากขาดออกจากเมล็ด
ขั้นตอนที่สาม ใช้นิ้วจิ้มลงไปในดินให้เป็นหลุมที่มีความลึกประมาณ 1-1.5 ข้อนิ้ว จากนั้นทำการวางเมล็ดกัญชาลงไปในหลุม แล้วทำการกลบหน้าดินเบาๆ ไม่ควรกดหรือกลบหน้าดินรุนแรงเกินไป เพราะจะทำให้ดินแน่นส่งผลให้รากไม่สามารถเจริญเติบโตได้
ขั้นตอนที่สี่ รดน้ำให้ดินพอมีความชุ่มชื้น ไม่ควรรดให้เปียกหรือแฉะจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้รากเน่าได้
เมื่อผ่านไปประมาณ 5-7 วัน ให้สังเกตว่า มีลำต้นและใบโผล่พ้นขึ้นมาเหนือดินหรือยัง เมื่อลำต้นและใบโผล่พ้นขึ้นมาแล้ว ผู้ปลูกสามารถให้ปุ๋ยและดูแลต่อไปได้ ต้นกัญชาก็จะเข้าสู่ระยะทำใบไปเป็นลำดับต่อไป
ในกรณีที่ผู้ปลูกต้องการปลูกกัญชาแบบกลางแจ้ง (Outdoor) เมื่อต้นกล้ามีการเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง ผู้ปลูกสามารถนำต้นกล้าที่ปลูกในกระถาง ย้ายไปลงในแปลงเพาะปลูกได้ เพื่อให้ต้นกัญชาเจริญเติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพ และง่ายต่อการดูแลและใส่ปุ๋ย หรือผู้ปลูกที่ต้องการปลูกแบบในร่ม (Indoor) เมื่อต้นกัญชามีขนาดใหญ่กว่ากระถาง หรือรากงอกเลยออกมาจากก้นกระถางก็ควรที่ต้องต้องมีขั้นตอนย้ายต้นกัญชาไปยังกระถางที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้ต้นกัญชาสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
การลงแปลงเพาะปลูก หรือการย้ายกระถาง
เมื่อต้นกัญชามีขนาดที่ใหญ่มากขึ้น จำเป็นจะต้องมีการนำลงแปลงเพาะปลูกในกรณีที่ปลูกแบบกลางแจ้ง หรือย้ายกระถางในกรณีที่ปลูกแบบในร่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเจริญเติบโต โดยการจะนำต้นกัญชาลงแปลงเพาะปลูกหรือย้ายกระถางควรต้องพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้
ต้นกัญชาจะต้องมีความสมบูรณ์และมีความสูงพอเหมาะ
ต้นกัญชาเริ่มมีขนาดใหญ่กว่ากระถาง หรือรากงอกเลยออกมาจากก้นกระถาง ก็สามารถนำไปลงแปลงเพาะปลูกหรือย้ายกระถางได้เลย
รากของต้นกัญชาจะต้องมีปริมาณรากฝอยที่มากพอ หากรากฝอยมีจำนวนน้อย จะส่งผลกระทบทำให้ลำต้นเหี่ยวเฉาได้ง่ายและนำไปสู่การสูญเสียต้นกัญชา
ต้นกัญชาเริ่มมีใบแท้ 4-5 คู่ ก็ควรทำการย้ายไปลงแปลงเพาะปลูก หรือย้ายกระถางได้
ผู้ปลูกจะต้องหมั่นสังเกตขนาดของต้นกัญชาเป็นประจำ เพื่อที่จะได้นำไปลงแปลงเพาะปลูกหรือย้ายกระถางได้ทันตามช่วงเวลาที่ถูกต้อง และเหมาะสมตามฤดูกาลจะทำให้ต้นกัญชาสามารถเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ในพื้นที่แปลงปลูกอันกว้าง หรือกระถางที่เหมาะสม
เลือกปลูกกัญชาที่ไหน ผลผลิตดีเยี่ยม
การปลูกกัญชาในแต่ละแบบไม่ว่าจะปลูกในที่ร่มหรือกลางแจ้งนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของเมล็ดพันธุ์ที่เลือกใช้ (Auto/Photo) รวมไปถึงความต้องการ ความสะดวก และจุดประสงค์ของผู้ปลูก แต่ผู้ปลูกจะต้องมีความเอาใจใส่ในขั้นตอนกระบวนการปลูก ตั้งแต่วิธีเพาะเมล็ดกัญชา ไปจนถึงมีความเอาใจใส่ในการดูแลต้นกัญชาเป็นอย่างดี
ซึ่งการปลูกกัญชาทั้ง 2 แบบมีลักษณะ และข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนี้
การปลูกกัญชากลางแจ้ง (Outdoor)
เป็นการปลูกกัญชาโดยอาศัยแสงแดด อุณหภูมิ และสภาพอากาศจากธรรมชาติ ดังนั้นการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ต้นกัญชานั้นเจริญเติบโตมา
การปลูกกัญชากลางแจ้งมีข้อดี คือ
ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปลูก เนื่องจากไม่ต้องใช้เงินลงทุนกับอุปกรณ์ปลูกมากมาย
สามารถเห็นการเจริญเติบโตของต้นกัญชาอย่างเต็มที่และชัดเจน
มีวิธีขั้นตอนในการปลูกที่ไม่ยุ่งยาก ดูแลต้นกัญชาได้ง่าย
ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมายในการปลูก เช่นเต้นท์ปลูก หรือหลอดไฟ
ประหยัดค่าไฟ เนื่องจากใช้แสงจากธรรมชาติ
เหมาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ Auto เพราะสามารถให้ได้ผลผลิตเยอะกว่า และการดูแลที่น้อยกว่า
การปลูกกัญชากลางแจ้งมีข้อเสีย คือ
มีความเสี่ยงในเรื่องสภาพอากาศ หรือลมพายุที่ส่งผลกระทบต่อต้นกัญชา
ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้
อาจจะมีปัญหาในเรื่องแมลง ศัตรูพืชมารบกวน ส่งผลให้ต้นกัญชาเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หรือเกิดความเสียหายได้
หากปลูกด้วยเมล็ด Photo อาจจะต้องปลูกตามฤดูกาลเนื่องจากใช้แสงแดดจากธรรมชาติ เพราะเมล็ดพันธุ์ Photo นั้นมีชั่วโมงแสงที่ต้องการแตกต่างกันไปในช่วงทำดอก
การปลูกกัญชาในที่ร่ม (Indoor)
เป็นการปลูกกัญชาในสถานที่ปิด วิธีนี้ทำให้ผู้ปลูกสามารถควบคุมปัจจัย และสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นต้นกัญชาก็จะเจริญเติบโต และออกผลผลิตตามสภาพแวดล้อมที่ผู้ปลูกนั้นเป็นคนกำหนด
การปลูกกัญชาในที่ร่มมีข้อดี คือ
ทำให้ผู้ปลูกสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นได้ตั้งแต่การเพาะเมล็ดกัญชา ไปจนถึงการออกผลผลิต ส่งผลให้สามารถควบคุมคุณภาพของกัญชาได้ตั้งแต่ต้นทาง
ไม่มีปัญหาในเรื่องแมลง และศัตรูพืช
ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องสภาพอากาศ
ควบคุมจำนวนชั่วโมงการรับแสงได้
ปลูกได้หลายครั้งต่อปี
เหมาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ทั้ง Photo ที่ต้องการจำนวนชั่วโมงในรับแสงแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย และเมล็ดพันธุ์ Auto เพราะผู้ปลูกสามารถควบคุมปริมาณแสงได้
การปลูกกัญชาในที่ร่มมีข้อเสีย คือ
ต้องการการเอาใจใส่เป็นอย่างมากตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะเมล็ดกัญชา ไปจนถึงช่วงออกผลผลิต
ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อื่นๆ เป็นจำนวนมาก เช่น เต้นท์ปลูก โรงเรือน หลอดไฟ ระบบการให้น้ำและปุ๋ย เป็นต้น
ใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการเริ่มต้น
ใช้ทรัพยากรด้านไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้เปลืองค่าไฟได้
การปลูกกัญชากลางแจ้งหรือปลูกในที่ร่มย่อมมีทั้งผลดีและผลเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผู้ปลูกจะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีหรือละเอียดเพื่อที่จะได้รับผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยสามารถปลูกกัญชาในครัวเรือน ได้ครัวเรือนละ 15 ต้น ทำให้กัญชากลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่ได้รับความนิยมในการปลูกมากขึ้น ซึ่งหากใครหลายๆ คนกำลังมองหาวิธีเพาะเมล็ดกัญชา หรืออยากรู้วิธีเพาะเมล็ดกัญชา ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเพาะเมล็ดกัญชาในทิชชู่นั่นเอง โดยหลังจากรากงอกแล้ว ก็สามารถค่อยๆ ย้ายมาลงกระถางเพื่อที่จะอนุบาลต้นอ่อน และเมื่อต้นแข็งแรงดีแล้วจึงค่อยนำมาลงดิน หรือย้ายไปยังกระถางที่ใหญ่ขึ้น ตามสภาพแวดล้อมในการปลูกเป็นลำดับต่อไป เพื่อที่จะทำให้ต้นกัญชาเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และมีศักยภาพในการให้ผลผลิตที่มีคุณภาพกับผู้ปลูก